Episodes
Friday Oct 28, 2022
Friday Oct 28, 2022
รายการ ‘คนย่านเดียวกัน’ ขอเปิดอีพีแรกด้วยการชวนคุณมาเป็นคนย่านเดียวกันกับ ‘น้ำ-กันต์นที นีระพล ลิ้มวิรัตน์’ แอร์โฮสเตส ครูสอนปรุงกลิ่น และผู้เขียนหนังสือ Nose Note ที่จะมาเล่าประสบการณ์การเป็นคนย่านตลาดผาสุกในจังหวัดกาญจนบุรี ที่ต้องเข้ามาเรียนพิเศษในกรุงเทพฯ ก่อนเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยต้องเดินทางกลับบ้านทุกสัปดาห์
จนสุดท้ายน้ำได้มาเป็นคนย่านร่มเกล้า และเปิดคลาสสอนการปรุงกลิ่นน้ำหอม จนออกมาเป็นกลิ่นน้ำหอมที่ได้แรงบันดาลใจจากย่านที่เคยอยู่อาศัย และมีความหลังชวนให้คิดถึง
#UrbanCreature #UrbanCreaturePodcast #คนย่านเดียวกัน
Tuesday Oct 25, 2022
Tuesday Oct 25, 2022
Autobahn คือทางหลวงของประเทศเยอรมนี ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก สร้างมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากความใหญ่โตแล้ว อีกความน่าสนใจของทางหลวงสายนี้คือ คุณสามารถใช้ความเร็วเท่าไหร่ก็ได้ ขอเพียงแค่ห้ามขับช้าเกินไป
ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ทางหลวงสายนี้สามารถซิ่งโดยไม่จำกัดความเร็วได้ Urban Podcast EP. นี้ สรุปมาให้ฟังกันแบบเข้าใจง่าย
#UrbanCreature #UrbanPodcast #Autobahn
Wednesday Oct 19, 2022
Wednesday Oct 19, 2022
อินฟลูเอนเซอร์ นอกจากเป็นอาชีพใหม่ของยุคสมัยแล้ว ยังเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนในสังคม
หลายๆ ครั้งจึงมักเกิดปรากฏการณ์ที่กลุ่มคนเหล่านี้ส่งต่อแนวคิด ความเชื่อ หรือความเข้าใจ จนกลายเป็นเทรนด์ที่คนอื่นนำไปพูดคุยหรือทำตามต่อๆ กันเป็นวงกว้าง และในขณะเดียวกัน อินฟลูเอนเซอร์ที่มีความรู้เฉพาะทาง เป็นกูรูในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนเมืองมากขึ้น อย่างเวลาจะซื้ออะไรก็ต้องเปิดเพจอินฟลูฯ คนนั้นเช็กก่อน หรือติดตามดูว่าอินฟลูฯ คนนั้นเขาใช้ของชิ้นไหน กินอะไร ใช้ชีวิตยังไง เพื่อนำไปทำตาม หวังมีชีวิตดีๆ เหมือนไอดอลผู้เป็นต้นแบบ
ทว่าแท้จริงแล้วการมาของอินฟลูฯ มันเกี่ยวข้องหรือส่งผลต่อเมืองในภาพรวมอย่างไรบ้าง แล้วชีวิตของคนที่ยึดอาชีพนี้ต้องปรับหรือเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง Unlock the City เอพิโสดนี้ โฮสต์ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง ‘พนิต ภู่จินดา’ ได้ชวนนักคิดนักเขียน ผู้เป็นอินฟลูฯ ด้านความคิดความเชื่อ ‘นิ้วกลม’ หรือ ‘เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์’ มาพูดคุยถึงแง่มุมนี้ รวมถึงอนาคตและทิศทางของเมืองที่คนทั่วไปอาจเป็นอินฟลูฯ ได้อย่างไม่ยากเย็นอีกต่อไป
Monday Oct 17, 2022
Monday Oct 17, 2022
ที่ผ่านมา หลายคนอาจเคยเห็นคดีแปลกๆ ที่จั่วหัวว่า ‘ฟลอริดาแมน (Florida Man)’ ว่าด้วยวีรกรรมประหลาดๆ สุดเซอร์เรียลของผู้ก่อคดี ที่มาจากรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นชาวฟลอริดาต่อสู้กับจระเข้ ชาวฟลอริดากินแพนเค้กบนทางม้าลายแล้วถูกจับ หรือชาวฟลอริดาฝึกกังฟูกับหงส์
แล้วทำไมคดีแบบนี้ต้องเกิดกับฟลอริดาด้วย เพราะรัฐนี้มีคนเพี้ยนๆ เยอะกว่ารัฐอื่นหรือเป็นเพราะอะไรกันแน่ Urban Podcast ขอเปิดตัวเอพิโสดแรกด้วยเหล่าทฤษฎีที่อาจช่วยอธิบายพฤติกรรมของชาวรัฐนี้ได้
#UrbanCreature #UrbanPodcast #FloridaMan
Wednesday Oct 05, 2022
Wednesday Oct 05, 2022
ใครๆ ก็ชอบพื้นที่สีเขียว เพราะทำให้สภาพแวดล้อมน่ามอง ผ่อนคลาย แถมยังช่วยให้อากาศดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะปลูกต้นไม้ที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่
ต้นไม้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเมือง แต่ไม่ใช่ว่าต้นไม้ทุกต้นจะมีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะถ้าคัดเลือกต้นไม้มาปลูกอย่างไม่เหมาะสม พื้นที่และคนเมืองอาจได้รับผลกระทบด้านลบมากกว่าด้านบวก อย่างต้นไม้ที่กิ่งมีลักษณะเปราะ หรือต้นไม้ที่มีผลเป็นฝัก มีโอกาสร่วงหล่นใส่รถยนต์หรือคนที่สัญจรไป-มา
Unlock the City เอพิโสดนี้ โฮสต์ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง ‘พนิต ภู่จินดา’ ชวน ‘ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา’ อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องต้นไม้ในเมืองที่ต้องการการดูแลจัดการแตกต่างจากต้นไม้ในป่า อีกทั้งยังส่งผลต่อเมืองในหลายมิติชนิดที่หลายคนคาดไม่ถึง
Wednesday Sep 21, 2022
Wednesday Sep 21, 2022
ขยะคือหนึ่งสาเหตุของน้ำท่วมเมือง
หลายคนน่าจะเห็นภาพฟูกที่นอน โซฟา และขยะชิ้นใหญ่เบิ้มที่ทางเจ้าหน้าที่เก็บกู้มาจากแหล่งน้ำ นอกจากความสกปรก ส่งกลิ่นเหม็นแล้ว ขยะพวกนี้ยังสร้างปัญหาอุดตัน ทำให้เก็บกักน้ำได้น้อยลง
แม้จะมีความพยายามในการผลักดันการจัดการขยะมาหลายยุคสมัย แต่ในเมืองที่มีปัญหาขยะเรื้อรังมาอย่างเนิ่นนาน ถึงขนาดมีรายงานว่าคนกรุงเทพฯ ทิ้งขยะเฉลี่ยแล้ว คนละ 2.2 กิโลกรัม/วัน ภาพรวมเรื่องนี้ก็ยังไม่ดีขึ้นนัก นั่นเพราะเรายังมีนโยบายการจัดเก็บและจัดการขยะที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนที่อยากลดการสร้างขยะก็ทำได้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย
‘พนิต ภู่จินดา’ โฮสต์รายการ Unlock the City ชวน ‘ก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ’ หรือ ก้องแห่ง Konggreengreen อินฟลูเอนเซอร์สายเขียว มาสนทนาถึงสถานการณ์การจัดการขยะในกรุงเทพฯ อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้บ้านเราไม่สามารถจัดการขยะได้ดีแบบญี่ปุ่นหรือเยอรมนี วิธีการจัดการขยะแบบปัจเจกและสเกลเมืองควรเป็นแบบไหน ไปจนถึงการตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วประเทศไทยเหมาะกับการจัดการขยะแบบไหนกันแน่
Wednesday Sep 07, 2022
Wednesday Sep 07, 2022
ไทยคือหนึ่งในประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตในช่วงวัย 30 - 60 ปี หรือที่เรียกว่า ‘ตายก่อนวัยอันควร’ ค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น เราสามารถออกแบบนโยบายสุขภาพหรือแม้กระทั่งออกแบบผังเมือง เพื่อป้องกันการเกิดโรคในคนกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อแก่ตัวไป พวกเขาจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ ไม่เจ็บป่วย ช่วยเหลือตัวเองได้ และไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและเมือง
Unlock the City เอพิโสดนี้ ชวนฟังบทสนทนาของ ‘ภัทรภณ อติเมธิน’ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสมิติเวช ที่มาแลกเปลี่ยนถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนเมือง ที่นับวันยิ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และทวีความรุนแรง เนื่องจากวิถีชีวิตที่ต้องต่อสู้แข่งขัน ภายใต้ความสะดวกสบายของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยทุ่นแรง ซึ่งอีกแง่หนึ่งก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะ ‘เนือยนิ่ง’ ในหมู่คนรุ่นใหม่
ยังไม่นับเปอร์เซ็นต์ของโรคติดต่อ-โรคไม่ติดต่อ ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญตามกลุ่มการพัฒนาของประเทศทั่วโลก เพราะหากลงลึกถึงปัญหาจริงๆ แล้ว โครงสร้างพื้นฐาน อาหารการกิน การคมนาคมขนส่ง ทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับสุขภาวะผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ไม่มากก็น้อย
Wednesday Aug 24, 2022
Wednesday Aug 24, 2022
หมาแมวไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน โดยเฉพาะหมาแมวจรจัดที่เป็นปัญหาเรื้อรังของเมือง
เรื่องสัตว์ในเมืองไม่ใช่หัวข้อใหม่ในสังคม แต่เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น ยิ่งในยุคที่คนฮิตเลี้ยงสัตว์เสมือนเป็นลูกคนหนึ่ง ซึ่งในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่เลี้ยงสัตว์ตามกระแสนิยมแล้วปล่อยสัตว์ที่เลี้ยงให้เร่ร่อน เพิ่มปริมาณสัตว์จรจนกลายเป็นปัญหาที่เพิ่มพูน
แต่เมื่อรัฐได้พยายามกำหนดนโยบาย และออกกฎการควบคุมสัตว์เลี้ยงกับสัตว์จรขึ้นมา ก็มักตามมาด้วยดราม่าใหญ่โตทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนสัตว์เลี้ยง หรือกระทั่งวิธีการควบคุมปริมาณสัตว์จรด้วยการฉีดยาให้หลับ ยังไม่นับรวมความเข้มข้นของกฎหมายคุ้มครองสัตว์ และการนำสัตว์มาใช้ประโยชน์ ที่ประชาชนมักหยิบมาถกเถียงกันให้เห็นเนืองๆ
ชวนทำความเข้าใจกับ ‘จุฑามาส เบ็ญจนิรัตน์’ อาจารย์สัตวแพทย์ประจำคลินิกพฤติกรรมสุนัขและแมว โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความเป็นไปของปัญหานี้ที่ไม่เคยแก้ไขได้ในบ้านเรา ไปจนถึงการออกแบบเมืองกับนโยบายเกี่ยวกับการจัดการควบคุมสัตว์ที่ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัยในเมือง
Wednesday Aug 10, 2022
Wednesday Aug 10, 2022
คนส่วนใหญ่มักหวาดกลัวความแก่ชรา ความจริงแล้วสิ่งที่เรากลัวนั้นอาจไม่ใช่การที่อายุมากขึ้นหรือร่างกายเสื่อมลง แต่เป็นการที่ ‘แก่’ แล้ว ‘จน’ เพราะไม่มีรัฐสวัสดิการรองรับ อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานของเมืองก็ไม่สนับสนุนให้ผู้สูงวัยใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในที่สุด เมืองไทยก็เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว หลังจากที่เมื่อปีที่แล้วจำนวนประชากรผู้สูงอายุแซงหน้าประชากรเด็ก นั่นแปลว่าถึงเวลาแล้วที่เมืองควรหันมาใส่ใจการออกแบบให้รองรับการใช้ชีวิตของประชาชนที่มีอายุมากขึ้นสักที
‘พนิต ภู่จินดา’ โฮสต์ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง และ ‘ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สนใจ ศึกษา และเรียกร้องรัฐสวัสดิการ จะมาแลกเปลี่ยนความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุกับการออกแบบเมืองที่สอดรับกันใน Unlock the City ตอนนี้
Wednesday Jul 27, 2022
Wednesday Jul 27, 2022
หัวข้อการอนุรักษ์อาคารและสถาปัตยกรรมเก่า มักได้รับการหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้ง เพราะนอกจากคุณค่าทางใจและความทรงจำของผู้คนที่เป็นส่วนหนึ่งของสถานที่เหล่านั้นแล้ว ยังมีมิติของกฎหมายและธุรกิจที่ซ้อนทับอยู่ด้วย ซึ่งเขตแดนพวกนี้ช่างพร่าเลือนและมักนำมาซึ่งข้อขัดแย้งอยู่บ่อยครั้ง
การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย กระแสการท่องเที่ยวที่สุดโต่ง มูลค่าของที่ดิน หลักเกณฑ์การตัดสินและวัดคุณค่าอาคารเก่า ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างสาเหตุที่ทำให้เกิดข้อพิพาทในการเลือกเก็บหรือไม่เก็บอาคารและสถาปัตยกรรมเก่าสักแห่งไว้
Unlock the City อีพีนี้ ‘พนิต ภู่จินดา’ พูดคุยกับ ‘วีระพล สิงห์น้อย’ ช่างภาพสถาปัตยกรรม เพจ Foto_momo ถึงเหตุการณ์ทุบทำลายอาคารเก่าที่เกิดขึ้น แนวทางในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมในเมือง ไปจนถึงฮาวทูการอยู่ร่วมกันระหว่างคนในชุมชนกับเมืองที่พัฒนาก้าวหน้าไปทุกนาที